แนวปะการัง

การฟื้นฟูแนวปะการัง

Environment

  แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่มีความซับซ้อน และเป็นบริเวณที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในทะเล ทรัพยากรสัตว์น้ำนานาชนิดจากแนวปะการังถูกนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อม ความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังดึงดูดให้มีการใช้ประโยชน์จากแนวปะการังมากขึ้น ทั้งในด้านการประมง และการท่องเที่ยว ซึ่งมีความสำคัญมากทางเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งด้วยกิจกรรมต่างๆ ทำให้แนวปะการังเริ่มเสื่อมโทรม ด้วยสาเหตุและปัจจัยทางธรรมชาติ และกิจกรรมของมนุษย์ ดังนั้นจึงมีการฟื้นฟูแนวปะการังขึ้น

การฟื้นฟูแนวปะการัง 

1.การเพิ่มพื้นที่ลงเกาะให้กับตัวอ่อนปะการังที่มีอยู่ในธรรมชาติ 

เป็นวิธีการที่เหมาะกับบริเวณที่มีปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของปะการัง รวมทั้งมีตัวอ่อนปะการังในธรรมชาติมากเพียงพอที่จะลงเกาะในบริเวณนั้นๆ แต่ลักษณะพื้นทะเลเปลี่ยนไปจากเดิม กรณีนี้เหมาะสมที่จะทำในพื้นที่ที่ถูกทำลายจนกระทั่งซากปะการังแตกหักป่นจากแรงระเบิด หรือซากปะการังถูกพายุซัดขึ้นไปกองอยู่บนหาด เหลือแต่พื้นทรายไว้ ในกรณีเช่นนี้ ตัวอ่อนปะการังขาดพื้นแข็งสำหรับยึดเกาะเพื่องอกใหม่ ดังนั้นจึงอาจจำเป็นต้องเสริมพื้นแข็งลงไปในแนวปะการังนั่นเอง

2.การฟื้นฟูสภาพแนวปะการังโดยการย้ายปลูก 

เป็นวิธีการที่ใช้เวลา แรงงาน รวมทั้งงบประมาณต่ำกว่าการเพิ่มพื้นที่ลงเกาะ และเห็นผลชัดเจนในเวลาอันสั้น เมื่อเทียบกับการลงเกาะของตัวอ่อนปะการังตามธรรมชาติ โดยกิ่งปะการังที่ใช้ในการย้ายปลูก จะต้องมีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร จากการเปรียบเทียบการขนย้าย 3 วิธี โดยใช้เวลาในการขนย้ายประมาณ 90 นาที จากแนวปะการังที่เป็นแหล่งพันธุ์ 2 แหล่ง พบว่าปะการังที่ย้ายโดยการแช่น้ำทะเลตลอดเวลา จะมีอัตราการรอดที่สูงที่สุด รองลงมาคือ ไว้ในที่แห้งโดยใช้น้ำทะเลรดเป็นระยะ และการใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ชุบน้ำห่อกิ่งปะการังไว้ตามลำดับ

แต่อย่างไรก็ตามการฟื้นฟูแนวปะการังไม่ได้เป็นวิธีการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมสำหรับแนวปะการัง เนื่องจากการมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง ใช้แรงงานมาก ระยะเวลาดำเนินการค่อนข้างนานกว่าจะเห็นผล และหากทำโดยปราศจากความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับชีววิทยาปะการังและปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ อาจเป็นการเพิ่มความเสื่อมโทรมให้กับแนวปะการังนั้นแทน ซึ่งโดยปกติแล้วแนวปะการังในประเทศไทยหลายๆ บริเวณมีศักยภาพในการฟื้นตัวตามธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งหากมีปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ อำนวยแก่การดำรงชีวิตของปะการัง และปราศจากกิจกรรมของมนุษย์ที่อาจเข้าไปรบกวนการฟื้นตัวหรือการดำรงชีวิตของแนวปะการัง แนวปะการังในบริเวณนั้นจะมีความเป็นไปได้สูงในการฟื้นตัวตามธรรมชาติโดยที่มนุษย์ไม่จำเป็นต้องเข้าไปดำเนินการแต่อย่างใด ดังนั้นสิ่งที่ควรคำนึงคือการไม่เข้าไปทำลายปะการัง การรักษาให้ดีเสมอย่อมดีกว่าการฟื้นฟู

Related Posts